วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทที่ 1


ยังเยาว์ (Young) : พ.ศ. 2522

ความเขลาของชีวิตที่ไม่รู้

 
ฉาก 1 / ภายนอก / ทุ่งหญ้า / กลางวัน

- ภาพกว้างของทุ่งหญ้าสุดสายตา มีภูเขาเป็นฉากหลังลางเลือน เหนือพื้นดินเบื้องหน้าเปลวแดดเคลื่อนไหวอย่างเนิบช้า

- ภาพใกล้เห็นตั๊กแตนเกาะอยู่บนยอดหญ้า กระโดดกันไปมา ก่อนจะมีเสียงหัวเราะของเด็กๆ แทรกเข้ามา

- ภาพปานกลางกลุ่มเด็กประถม 4-5 คน เสื้อผ้าเก่า เท้าเปลือยเปล่า วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน

- ภาพใกล้ที่ใบหน้าของเด็กๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มสดใส


                แล้วภาพก็แช่ไว้ที่รอยยิ้มของเด็กชาย เปี๊ยก วัย 12 ปี นักเรียนชั้นป. 4 ของโรงเรียนรอบนอกในจังหวัดลำปาง นับเป็นฉากเปิดเรื่องที่สวยงาม อบอุ่น และเป็นธรรมชาติมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้ในผลงานช่วงสิบปีหลังของคุณแสงโต

ถัดจากซีนเปิดเรื่อง บรรยากาศของภาพและเรื่องราวแปรเปลี่ยนเป็นขึงขังจริงจังอย่างเห็นได้ชัด หลังจากรอยยิ้มอันไร้เดียงสาของเด็กประถมกลุ่มนั้น ภาพก็ตัดมาที่กิ้งก่าตัวสีฟ้าหางยาวที่เกาะอยู่โคนต้นตะขบ กำลังชูคอสูงเพื่อระวังภัย แต่จู่ๆ ก้อนกรวดขนาดหัวแม่มือก็พุ่งตรงมาอย่างเร็ว กระแทกไปที่หัวของกิ้งก่าจนกระเด็นหล่นลงมายังพื้น หลังจากหายมึนกิ้งก่าพยายามวิ่งหนีจากการถูกโจมตี แต่ห่ากระสุนก้อนกรวดมีมากเกินไป กิ้งก่าน้อยจึงถูกโจมตีเข้าไปอีกหลายนัดจนหมดแรงเคลื่อนไหว นอนแน่นิ่งอยู่บนพื้นหญ้า แล้วต้นตอของกระสุนก้อนกรวดก็โผล่เข้ามา

เด็กประถมทั้ง 4 คนนำโดยเปี๊ยก เดินตรงเข้ามาหาเหยื่อความคะนอง พร้อมกระชับหนังสติ๊กในมือแน่น เปี๊ยกก้มลงหยิบกิ้งก่าซึ่งหายใจรวยรินขึ้นมาเพ่งดู ภาพตัดไป

กิ้งก่าน้อยตัวนั้นในสภาพหมดลมหายใจถูกมัดที่หางลากไถลไปกับพื้นดินจนหนังถลอก โดยมีเปี๊ยกกำเส้นด้ายที่มัดกิ้งก่าไว้ เด็กทั้ง 4 คนมองกิ้งก่าตัวนั้นอย่างสนุกสนาน ใบหน้าเจือด้วยรอยยิ้มสดใสอย่างที่เห็นตอนต้นเรื่อง

แค่ซีเคว้นซ์เปิดเรื่องนี้ก็กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดการตั้งคำถามขึ้นมากมาย โดยเฉพาะต่อรอยยิ้มอันไร้เดียงสาของเด็กๆ ผู้ได้รับการเปรียบว่าเป็นประหนึ่งผ้าขาวอันไร้รอยมลทิน

ในตอนเย็นเปี๊ยกกลับเข้ามาในบ้าน ซึ่งเป็นเพิงไม้ขนาดเล็กยกพื้น กั้นเป็นสามส่วน สำหรับนอน ทานอาหาร และครัว ส่วนส้วมก็คือบริเวณทุ่งหญ้าด้านนอก เปี๊ยกเป็นคนทำอาหารโดยมีวัตถุดิบจากพืชผักที่ปลูกในสวน จนฟ้ามืดพ่อของเปี๊ยกซึ่งมีรายได้จากการรับจ้างทำนา ก็กลับมาถึงบ้านด้วยอาการเมาตามปกติ            

แสงสว่างภายในบ้านมีเพียงตะเกียงซึ่งทำจากกระป๋องนมเก่า แล้วใช้เชือกป่านเป็นไส้อยู่ตรงกลางเพียงตัวเดียว จากแสงสลัวพอมองเห็นจานสังกะสีเก่าคร่ำสองจานมีอาหารคนละชนิดวางอยู่บนพื้นพร้อมข้าวเหนียวบนใบตอง และใบหน้าหวาดวิตกของเปี๊ยก

คำตอบของความสงสัยในความกลัวของเปี๊ยกเมื่อเห็นพ่อได้ปรากฏออกมาหลังจากนั้นไม่นาน คำด่าหยาบคายและการลงไม้ลงมือจนกระทั่งหลับไปด้วยความเมา และการรับมืออย่างคุ้นชินของเปี๊ยกที่ค่อยๆ เก็บจานอาหารที่กระจัดกระจายมาวางไว้แล้วนั่งกินข้าวไปอย่างเงียบเชียบ ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นกิจวัตร

ตอนเช้าหลังจากที่เปี๊ยกไปโรงเรียนแล้ว เราได้เห็นพฤติกรรมที่ดูขัดแย้งกันของชายขี้เมาที่ทำร้ายลูกทุกวัน แต่กลับนั่งสวดมนต์ไหว้พระที่หน้าหิ้งพระอย่างจริงจัง จนท้ายคำสวดเราจึงได้ร้ความต้องการของเขาที่ขอให้รวย และสาปแช่งเมียที่หนีตามชู้ไป

นี่คือความเชื่อทางศาสนาของคนชนบทอย่างนั้นเหรอ หรือไม่ใช่แค่คนในชนบทที่ยึดติดศาสนาในลักษณะนี้

ในโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวหนึ่งหลัง เสาธงชาติทำด้วยไม้ไผ่ สนามหญ้าแห้ง และสวนผัก เด็กนักเรียนราว 30 คน เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำสวนครัว เลี้ยงไก่ และเล่นสนุก

เราได้เห็นชีวิตของเปี๊ยกดำเนินไปบนความชาชินต่อความยากลำบากและความรุนแรงจากพ่อ ครั้งหนึ่งเปี๊ยกและเพื่อนผ่านไปที่วงเหล้าขาวในตลาด จู่ๆ ชายขี้เมาในวงเหล้า 2 คนก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง จนกระทั่งชายคนหนึ่งคว้ามีดหั่นเนื้อที่วางอยู่เบื้องหน้าแทงคู่กรณีที่เข้ามาชกจนล้มลง พวกเปี๊ยกยืนมองภาพนั้นด้วยความตกตะลึง คนที่แทงวิ่งหนีไป คนถูกแทงนอนจมกองเลือดอยู่เบื้องหน้าจนสิ้นลมหายใจในที่สุด

โดยที่ไม่ต้องมีการพูดจากัน ภาพที่เห็นก็ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่า ความกลัวจับใจปรากฏขึ้นกับเด็กทุกคน กลิ่นคาวเลือด และความรู้สึกถึงความตายอย่างแท้จริง ทำให้คืนนั้นไม่มีใครนอนหลับได้อย่างสนิท

เรื่องราวโดยส่วนใหญ่ได้แสดงให้เห็นถึงสภาวะของเด็กที่กระทำสิ่งต่างๆ อย่างจริงใจตรงไปตรงมา รู้สึกอย่างไรก็แสดงออกไปอย่างนั้น ไม่ว่าจะเจอเรื่องร้ายอะไรมา หรือมีชีวิตลำบากยากแค้นอย่างไร เมื่อมีโอกาสในการเล่นหรือทำอะไรได้อย่างอิสระ เด็กๆ ก็มักจะประดับรอยยิ้มไว้ในการกระทำนั้นเสมอ

แต่สิ่งที่น่าสนใจในการนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ ความบริสุทธิ์เดียงสาของเด็กๆ นั้น จะนำมาซึ่งการกระทำที่บริสุทธิ์ดีงามหรือเปล่า เพราะนอกจากเด็กจะถูกเปรียบเป็นผ้าขาวแล้ว ความบริสุทธิ์ใจของเด็กยังเป็นกระจกเงาที่สะท้อนสิ่งที่ได้รับรู้ออกมาในรูปแบบของการกระทำอีกด้วย

 ดังจะเห็นได้จากจุดหักเหในช่วงท้ายของภาพยนตร์ เมื่อเปี๊ยกพยายามจะไล่จับตุ๊กแกในบ้านเพื่อนำมาเล่น จนปีนไปชนหิ้งพระของพ่อตกกระจายลงมา ความตกใจและหวาดกลัวว่าจะถูกพ่อทำร้าย แสดงออกอย่างชัดเจนบนใบหน้าของเปี๊ยก

เปี๊ยกรีบร้อนเก็บพระที่หล่นอยู่ตามพื้นมาใส่ไว้บนหิ้งซึ่งพ่อเปี๊ยกใช้เศษไม้ต่อขึ้นมาเอง ขณะที่เปี๊ยกพยายามจะเอาหิ้งพระขึ้นไปไว้ตามเดิมนั้น สิ่งที่คนดูไม่อยากให้เกิดขึ้นก็เป็นจริง พ่อเปี๊ยกกลับมาที่บ้านเพื่อจะเอาเงินไปซื้อเหล้า

ทันทีที่เห็นภาพเบื้องหน้า โดยไม่ต้องมีคำอธิบายหรือคำแก้ตัวใดๆ จากเปี๊ยก มืออันหนาใหญ่และแข็งแรงของพ่อ ก็ฟาดเข้าเต็มแรงที่ใบหน้าของเปี๊ยกจนกระเด็น ท้ายทอยของเปี๊ยกไปกระแทกเข้ากับขอบเสาบ้านอย่างแรง จนเปี๊ยกล้มฟุบลงกับพื้น

 

ฉาก 85 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางวัน

(ตัดตอนมา)

- แทนสายตาเปี๊ยกที่นอนอยู่ (ภาพลางเลือน) เห็นเท้าของพ่อเดินไปที่หิ้งพระ ก่อนที่ภาพจะค่อยๆ พร่าเลือนจนมืด

เฟดเอาท์

เฟดอิน

ฉาก 86 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- แทนสายตาเปี๊ยกที่นอนอยู่ (ภาพลางเลือน) เห็นพ่อนั่งกินเหล้าอยู่คนเดียว โดยไม่สนใจใยดีเปี๊ยกที่นอนสลบอยู่ แล้วภาพก็ค่อยๆ พร่าเลือนจนมืด

เฟดเอาท์

 
เฟดอิน

ฉาก 87 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางวัน

- แทนสายตาเปี๊ยกที่นอนอยู่ (ภาพลางเลือน) ภาพที่เห็นขนานกับพื้นบ้านค่อยๆ ยกสูงขึ้น เห็นบ้านที่ว่างเปล่าไม่มีใคร


เปี๊ยกสลบไปหนึ่งวันเต็มๆ ก่อนจะลุกขึ้นมา โดยไม่ได้รับการดูแลรักษาใดๆ จากพ่อผ้ที่ลงมืออย่างรุนแรงเลย จากภาพแทนสายตาของเปี๊ยกทำให้เราพอจะรู้ได้ว่าสายตาของเขาไม่ปกติอีกแล้ว สาเหตุก็น่าจะมาจากการถูกกระแทกที่ท้ายทอยอย่างรุนแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเปี๊ยกมีผลอย่างไรและสร้างให้เกิดการรับรู้ขึ้นอย่างไรกับเปี๊ยกนั้น การนำเสนอของคุณแสงโตนับว่าสื่อสารออกมาได้เป็นอย่างดี ความไม่ชัดของภาพแทนสายตาของเปี๊ยกมีนัยถึงความไม่รู้ทางปัญญาของตัวเปี๊ยก ซึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ และที่สำคัญคือพ่อของเขาเอง

ผลของความไม่รู้ทางปัญญาซึ่งถูกนำเสนอโดยความมืดบอดทางสายตานั้น ได้นำไปสู่จุดจบอันน่าสะเทือนใจและไร้ทางออก

                นับจากวันที่เปี๊ยกถูกทำร้ายจนสลบไปสายตาของเขาก็แย่ลงเรื่อยๆ จากมองเห็นพร่าเลือนแต่ยังพอแยกแยะชนิดของสิ่งที่เห็นได้ จนมองเห็นเป็นเพียงสีต่างๆ และมองเห็นเพียงจุดแสง จนในที่สุดก็มองไม่เห็นอะไรอีกเลย

                ที่น่าสนใจก็คือเปี๊ยกไม่เคยยอมแพ้ต่อชะตากรรมเลย แม้จะร้องไห้บ้าง แต่เขาก็ยังคงดิ้นรนมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้เขาก็ใช้เวลาจัดการงานบ้าน ปลูกผัก หาปลาโดยใช้ผ้าบางๆ ไปขึงดักไว้ ทำไม้เท้าสำหรับคลำทางเมื่อสายตาแย่ลง เป็นแรงผลักดันจากสัญชาตญาณการมีชีวิตอยู่ขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง

                จนแม้จะตาบอดไปแล้ว เปี๊ยกก็อาศัยการจดจำในการดำรงชีวิตประจำวันต่อไป และสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองในโลกของความฝัน จนกระทั่ง...
 

ฉาก 112 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- เปี๊ยกนอนหลับอยู่บนบ้านคนเดียว ในความมืด

- ภาพใกล้ที่ใบหน้าเปี๊ยกนอนยิ้มอย่างมีความสุข

ตัดไป

ฉาก 113 / ในฝันของเปี๊ยก / ภายนอก / ทุ่งหญ้า / กลางวัน

- เปี๊ยกที่สายตาปกติ กับเพื่อนๆ วิ่งเล่นไล่จับกันอย่างสนุกสนาน

ตัดไป

 
ฉาก 114 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- พ่อเปี๊ยกกลับมาบ้านด้วยความเมา เห็นบ้านมืดสนิทโดยที่เปี๊ยกไม่ได้จุดตะเกียงไว้ จึงโมโหมาก

ตัดไป

 
ฉาก 115 / ในฝันของเปี๊ยก / ภายนอก / ทุ่งหญ้า / กลางวัน

- เปี๊ยกจับกิ้งก่ามัดกับด้ายแล้วลากไปกับถนน

ตัดไป


ฉาก 116 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- พ่อเปี๊ยกเดินตรงเข้ามาหาเปี๊ยกที่นอนอยู่ แล้วจิกหัวเปี๊ยกขึ้นมาตบ

ตัดไป

 
ฉาก 117 / ในฝันของเปี๊ยก / ภายใน / ตลาด / กลางคืน

- ชายเมาเหล้า 2 คน (ที่แทงกันตายในตลาดช่วงกลางเรื่อง) มาช่วยกิ้งก่าแล้วทำร้ายเปี๊ยก

ตัดไป

 
ฉาก 118 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- เปี๊ยกที่ยังไม่ได้สติพยายามขดตัวเพื่อปกป้องตัวเองจากการทำร้ายของพ่อ

ตัดไป

 
ฉาก 119 / ในฝันของเปี๊ยก / ภายใน / ตลาด / กลางคืน

- เปี๊ยกนั่งหมอบเพื่อป้องกันตัวจากการทำร้ายของชายเมาเหล้าทั้ง 2 คน

ตัดไป

 
ฉาก 120 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- เปี๊ยกหาทางป้องกันตัวเองโดยควานมือเปะปะไปจนหยิบได้มีดทำครัว

ตัดไป

 
ฉาก 121 / ในฝันของเปี๊ยก / ภายใน / ตลาด / กลางคืน

- เปี๊ยกยื่นมือไปหยิบมีดหั่นเนื้อที่เพิงในตลาด

ตัดไป

 
ฉาก 122 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- เปี๊ยกเสือกมือที่กำมีดไปข้างหน้าสุดแขน

ตัดไป

 
ฉาก 123 / ในฝันของเปี๊ยก / ภายใน / ตลาด / กลางคืน

- เปี๊ยกแทงชายเมาเหล้าคนหนึ่งล้มลง (คนเดียวกับที่ตายตอนกลางเรื่อง) ส่วนอีกคนวิ่งหนีไป

ตัดไป

 
ฉาก 124 / ภายใน / บ้านเปี๊ยก / กลางคืน

- พ่อเปี๊ยกนอนกุมท้องตัวเอง เลือดนองเต็มพื้นบ้าน

- เปี๊ยกนั่งคุกเข่ามือถือมีดที่เปื้อนเลือดอยู่

- ภาพใกล้ที่ใบหน้าเปี๊ยก ดวงตาปิดสนิท

ตัดไป

 
ฉาก 125 / ความมืด

- ไม่มีความจริงและความฝันใดๆ อีกต่อไป

 
                คุณแสงโตได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความหนึ่งว่า เป็นความจริงหรือไม่ที่เด็กเปรียบเสมือนความบริสุทธิ์ในความหมายของความดีงาม เพราะไม่เป็นความจริงเลยที่เด็กๆ ไม่เคยทำความผิด ไม่เคยทำร้ายผู้ใด ภาพเหตุการณ์หนึ่งที่ผมไม่อาจลืมได้เลย เป็นเหตุการณ์ที่เด็กๆ อายุราว 12-13 ปี ประมาณ 5-7 คน ต่างถือก้อนหินอยู่ในมือแล้วระดมขว้างกันไปที่ชายเสียสติคนหนึ่งซึ่งมีผมเผ้ารุงรังแต่งตัวสกปรก พอเด็กๆ ขว้างหินถูกชายคนนั้น เขาก็คำรามเสียงดังแล้ววิ่งเข้าหากลุ่มเด็ก พวกเด็กๆ ก็แตกกระจายกันไป สักพักก็รวมตัวกันเข้ามาปาหินใส่ชายเสียสติอีก เป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนพ่อแม่เด็กมาตามจึงเลิกกันไป โดยที่ผมไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินการตักเตือนจากผ้ปกครองถึงพฤติกรรมอันไม่สมควรของลูกๆ พวกเขาเลย แทนที่จะมองการกระทำของเด็กว่าเป็นความไร้เดียงสา ถึงเวลารึยังที่เราควรอบรมศีลธรรมให้กับเยาวชนอย่างจริงจังก่อนที่จะสายเกินไป

จากภาพยนตร์และความคิดเห็นของคุณแสงโต จึงพออนุมานได้ว่า ยังเยาว์ เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอให้เห็นถึงความเยาว์วัยทางปัญญาและผลลัพธ์ของมันที่นำไปสู่จุดจบอันน่าสะเทือนใจ

นำเสนอให้เห็นถึงความมืดบอดของชีวิตที่เราท่านทั้งหลายอาจเป็นอยู่ในขณะนี้

ดังจะเห็นได้จากชีวิตของเด็กที่หาความเพลิดเพลินจากการทรมานทำลายชีวิตสัตว์

พ่อที่งมงายกับการสวดมนต์ กราบไหว้บูชา โดยปราศจากความเข้าใจว่าสิ่งไหนที่เขาควรใส่ใจดูแลอย่างแท้จริง

ขี้เมาที่ทำลายสติของตนด้วยน้ำเมา จนตกเป็นทาสของอารมณ์อันปราศจากปัญญา และต้องรับผลของการกระทำของตนอย่างไม่มีทางเลี่ยง

วัยของเราเมื่อเทียบกับโลกนั้นยังเยาว์นัก

ปัญญาของเราเมื่อเทียบกับพุทธะนั้นยิ่งเยาว์กว่านัก

แล้วปัญญาที่จะทำให้เราพ้นจากความมัวเมาทางโลกนั้นเป็นอย่างไร

ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ว่า พุทธศาสนา คือ วิชารวมทั้งระเบียบปฏิบัติ สำหรับจะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริง เพราะถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรจริงๆ แล้ว เราย่อมไม่ปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวง เมื่อปฏิบัติถูกแล้ว ก็เป็นอันแน่นอนว่า ความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้

โดยไม่รู้ตัว ขณะนี้เราอาจกำลังวิ่งวนอยู่ในบางสิ่ง บางสิ่งซึ่งผลักดันเราด้วยกิเลส ตัณหา ความอยาก อยากมีบ้าน อยากมีรถ อยากมีเงิน ฯลฯ เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราอยาก และการกระทำของเรานั่นเองที่พันธนาการตัวเราไว้ มากขึ้น มากขึ้น จนมองไม่เห็นตัวเราเอง

ปัญญานั้นจึงเป็นเครื่องมือนำพาเราสู่ทางดับทุกข์ และการจะได้มาซึ่งปัญญานั้น จำเป็นที่เราจะต้องเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง ตั้งแต่ ศีล เพื่อตัดหนทางของสิ่งขุ่นมัวที่จะรบกวนจิตใจไม่ให้เกิดสมาธิ เพราะเราต้องการสภาวะของ สมาธิ เพื่อให้เป็นที่อยู่ของ ปัญญา ที่จะนำเราสู่ความว่างอย่างแท้จริงนั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. เขียนไว้ปี 2549 ...จะพยายามเขียนตอนที่เหลือให้ครบครับ

    ตอบลบ