วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทนำ


                ถ้าหากจะตั้งคำถามว่า มนุษย์เราในทุกวันนี้ ยิ้มน้อยลงรึเปล่า ก็กลัวเหลือเกินว่าจะมีคำตอบว่า ใช่ เรายิ้มน้อยลง เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจตีความได้ว่าเรามีความสุขน้อยลง และในทางกลับกันย่อมหมายความว่าเรามีความทุกข์มากขึ้น

                มันเป็นเพราะว่าปริมาณความทุกข์เป็นสัดส่วนแปรผันตรงกับอายุของโลกอย่างนั้นหรือ ยิ่งโลกอายุมากขึ้นความทุกข์ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น หรือจะเป็นเพราะว่าคนเราทำในสิ่งที่ต้องเป็นทุกข์กันมากขึ้น มนุษย์เราเป็นผู้สะสมความทุกข์กันหรืออย่างไร

                เมื่อลองพยายามมองเข้าไปถึงสาเหตุที่ทำให้เราเป็นทุกข์นั้น สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์มีคุณสมบัติในการผูกติดยึดติด

                ดังที่จะเห็นได้จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน การเข่นฆ่ากันโดยอ้างถึงความต่างของศาสนา การฆ่ากันจากสาเหตุของความหึงหวงทางชู้สาว การฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะหนี้สิน และปัญหาอื่นๆ อีกมากที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน

                ไม่ใช่เพราะเรายึดติดในความเป็นชาติ จึงเกิดการแบ่งชาติหรือ

                ไม่ใช่เพราะเรายึดติดว่าเรานับถือศาสนานั้น ศาสนานี้ จึงเกิดการแบ่งกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างๆ หรือ

                ไม่ใช่เพราะเรายึดติดว่าคนนั้นเป็นแฟนของเรา ภรรยาของเรา สามีของเรา จึงทำร้ายผู้ที่เราคิดว่าแย่งเอาคนของเราไปหรือ

                ไม่ใช่เพราะเรายึดติดว่าเงินนี้เป็นของเรา จึงเป็นทุกข์เมื่อต้องสูญเสียมันหรือ

                ไม่ใช่เพราะเรายึดติดว่าตัวตนนี้เป็นของเราหรือ จึงหวงแหนและพร้อมจะทำร้ายผู้อื่นเพื่อปกป้องตัวเรานี้

                ถ้าอย่างนั้นเราเป็นทุกข์เพราะเรายึดติดอย่างนั้นหรือ

                ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าหัวใจของพุทธศาสนานั้น รวบรัดอยู่ในคำสอนสั้นๆ ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น     

                 ด้วยท่านพุทธทาสภิกขุได้สอนเกี่ยวกับ โรคทางวิญญาณ อันเป็นทุกข์นี้ มีเชื้ออยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่น อันได้แก่ ยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ยึดมั่นว่าเป็นของเรา เมื่อกำจัดซึ่งความยึดมั่นถือมั่นนี้แล้วเชื้อของโรคก็จะไม่มี โรคก็ย่อมไม่เกิด ทุกข์ก็จะไม่มีที่อยู่

                แล้วทำอย่างไรถึงจะเข้าไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น และดำเนินไปสู่ปลายทางสุดท้ายของการดับทุกข์ คือ ความว่าง

                คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้นมีให้อ่านให้ฟังกันได้มากมาย โดยเฉพาะงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งกล่าวถึงแก่นคำสอนของพุทธศาสนาได้อย่างกระชับตรงไปตรงมา ไม่เกินวิสัยที่จะทำความเข้าใจได้

                แต่นอกจากการอ่านกับการฟังแล้ว ก็ยังมีสื่ออื่นที่พยายามสื่อสารทำความเข้าใจถึงความทุกข์ และสภาวะแห่งความว่างนี้อยู่

                สื่อที่ว่านี้ก็คือ ภาพยนตร์

                ศิลปะภาพยนตร์ที่มีอายุกว่าหนึ่งศตวรรษนั้น สามารถกล่าวได้ว่านำเสนอเรื่องราวแทบทุกประเภทที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ รวมไปถึงเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบนโลกแล้วทั้งสิ้น ทั้งเรื่องราวแบบรูปธรรมและเรื่องราวแบบนามธรรม

                และสื่อภาพยนตร์นี้เองที่งานเขียนนี้ใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจ ความทุกข์ การยึดมั่นถือมั่น ไปจนถึง ความว่าง อย่างชาวพุทธครั้งนี้ โดยจะใช้คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นคู่มือ เป็นแผนที่นำทางไปบนเส้นทางของภาพยนตร์ โดยเจาะจงไปที่ภาพยนตร์ของคุณแสงโต คำบาดาล

                คุณแสงโต คำบาดาล เป็นผู้กำกับหนังอิสระที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ผลงานส่วนใหญ่ได้รับการจัดฉายในวงแคบ บางเรื่องได้รับเชิญไปฉายในต่างประเทศ ด้วยลักษณะของภาพยนตร์ที่ไม่เน้นความบันเทิง แต่มุ่งเน้นการแสวงหาความหมายและทางออกของชีวิต

                 แม้ภาพยนตร์ของคุณแสงโต คำบาดาล จะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่การทำงานในแนวทางของภาพยนตร์ศิลปะอย่างจริงจังตลอดระยะเวลา 25 ปี (พ.ศ.2522-2547) โดยศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางคำสอนเรื่องการไม่ยึดมั่นถือมั่น ตลอดจนความว่างจากท่านพุทธทาสภิกขุเป็นแก่นในการสื่อสาร ได้ทำให้เกิดความเข้าใจและมุมมองที่เติบโตขึ้นจนเกิดเป็นผลึกทางความคิดเกี่ยวกับการละตัวตนที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากผลงานทั้งหมด

เมื่อลองแกะรอยจากภาพยนตร์ทั้ง 15 เรื่องตามลำดับตลอดระยะเวลา 25 ปี โดยไม่ได้นับการจัดแสดงภาพถ่าย วิดีโออาร์ต และสื่อผสม ในระหว่างช่วงเวลานั้นของคุณแสงโต สามารถแบ่งกลุ่มของภาพยนตร์ออกตามช่วงเวลา และเนื้อหาหลักได้เป็นดังนี้

ช่วงที่หนึ่ง (พ.ศ.2522-2526)           มนุษย์กับความรุนแรง

ช่วงที่สอง (พ.ศ.2527-2530)            มนุษย์กับเซ็กซ์

ช่วงที่สาม (พ.ศ.2531-2536)            ชีวิตกับความตาย

ช่วงที่สี่      (พ.ศ.2537-2544)          ธรรมชาติ

ช่วงที่ห้า    (พ.ศ.2545-2547)          ความว่างเปล่า

แม้ในช่วงต้นงานภาพยนตร์ของคุณแสงโต จะยังไม่แสดงออกถึงการเดินทางสู่ความว่างมากนัก แต่ก็ยังแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่ได้รับการถ่ายทอดโดยผ่านคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ  

บางเรื่องเป็นการตั้งคำถาม บางเรื่องแสดงความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การหาบทสรุปและคำตอบสุดท้ายของการเดินทาง

ตลอดเวลา 25 ปีรูปธรรมทางความคิดของคุณแสงโต ที่นำเสนอผ่านภาพยนตร์ทั้ง 15 เรื่อง เป็นเสมือนบันทึกการเรียนรู้ และเป็นประตูสู่การทำความเข้าใจคำสอนเรื่องการไม่ยึดมั่นถือมั่น

การชมภาพยนตร์แต่ละเรื่อง จึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูแต่ละบานที่ทำให้เราได้เข้าใจ และเข้าใกล้ความหมายของสภาวะที่แท้ของความว่างได้มากขึ้น เพื่อให้เราสามารถพบเจอสภาวะความว่างนั้นได้ในชีวิตจริงของเราเอง

1 ความคิดเห็น: