“ถ้าสัตว์ป่าสูญพันธุ์หมดโลกแล้วจะเป็นยังไง”
ตั้งแต่เกิดมา
จะมีสักกี่คนที่เคยเห็นสัตว์ป่าใช้ชีวิตในธรรมชาติด้วยตาของตัวเองจริงๆ
ส่วนใหญ่ก็คงเคยเห็นพวกมันในสวนสัตว์ หรือเคยเห็นพวกมันในโทรทัศน์เหมือนพวกดารา
ส่วนผมได้เห็นพวกมันจริงๆ ครั้งแรก
ก็ตอนที่ผมมาทำภาพยนตร์สารคดีธรรมชาตินี่เอง
โชคดีอย่างหนึ่งคือ
ไม่มีทีมงานคนไหนออกปากว่ารักธรรมชาติ เพราะผมก็ไม่
ผมจะรักในสิ่งที่ผมไม่รู้จักได้ยังไง
การทำสารคดีธรรมชาติ
ก็คือการถ่ายภาพธรรมชาติมาเล่าให้คนดู ส่วนธรรมชาติจะเป็นยังไง
เราก็ไม่เคยสนใจอยู่แล้ว เพราะไม่ว่ามันจะสมบูรณ์หรือเสื่อมโทรม
เราก็เอามาเล่าเป็นเรื่องได้ทั้งนั้น
เราก็แค่เฝ้าดูและถ่ายทอดมันตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง
นั่นคือสิ่งที่ผมคิดในตอนแรก...
แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปี
ที่ผมได้ทำงานสารคดีชิ้นนี้ เดินทางไปถ่ายทำทั่วทุกภาคของประเทศไทย
รวมทั้งป่ามรดกโลก
ผมไม่เคยเจอป่าไหนที่สมบูรณ์เลย
หรือผมอาจเข้าใจผิดไปเอง เพราะป่าที่ปลูกใหม่โดยมนุษย์
หรือป่าที่มีถนนตัดผ่านและมีรถวิ่ง พวกนี้คือป่าที่สมบูรณ์แล้ว
ผมก็คงไม่มีทางรู้หรอก
เพราะดันเกิดช้าไปหลายร้อยปี
ในการทำสารคดีชิ้นนี้
ผมมีหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ บทที่ควรจะเล่าเรื่องราวที่สวยงามของธรรมชาติ
เพื่อทำให้คนดูได้รู้จักและรักธรรมชาติ
แต่ธรรมชาติที่ผมได้เห็นจริงๆ นั้น
กลับเป็นธรรมชาติที่หวาดกลัวและหนีสุดชีวิต เมื่อรับรู้ว่ามีมนุษย์อยู่บริเวณนั้น
ฝูงช้างป่าเกือบ 20 ตัว
ที่วิ่งหนีสุดฝีเท้าแทบจะเหยียบกันตาย เพียงเพราะลมเปลี่ยนทิศพัดเอากลิ่นของเราไปทางนั้น
แม้จะอยู่ห่างกันเกือบ 200 เมตร
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมตกใจจริงๆ
ว่าสิ่งมีชีวิตอื่น หวาดกลัวเราถึงขนาดนี้
จนผมคิดว่าสัตว์ป่าเหล่านี้คงมีการถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ไว้ใน
DNA ของพวกมันมาหลายชั่วรุ่นว่า
กลิ่นและรูปร่างหน้าตาของมนุษย์นั้นคือ ความอันตราย ความตาย และการทำลายล้าง
ที่ทำให้ พ่อ-แม่, ปู่-ย่า,
ตา-ยายของพวกมันต้องตายไปจนหมดแล้ว
หากนั่นคือเรื่องราวที่สัตว์ป่าเล่าสืบทอดกันมาจริงๆ
มนุษย์อย่างเราควรรู้สึกอย่างไร พวกเราผู้เรียกตัวเองว่า “สัตว์ประเสริฐ”
ทั้งๆ ที่ทีมงานก็พยายามเต็มที่ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่แท้จริงของธรรมชาติ
แต่ทุกครั้งที่เข้าไปถ่ายทำสารคดี ผมก็รู้สึกได้ถึงความแปลกแยก
รถยนต์ที่เข้าไปวิ่งในป่าส่งเสียงดังและควันพิษ เตาแก๊ส ไฟฉาย
และกล้องวีดีโอที่ต้องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
เราพาโลกของเราเข้าไปในป่า
แล้วแสร้งทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ
ทำบังไพรเพื่อเข้าไปซ่อน นั่งนิ่งๆ
เงียบๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วค่อยออกมาหลังดวงอาทิตย์ตก
กลับมาก็ปวดเมื่อยทั้งตัว
ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เจอสัตว์ที่ต้องการถ่าย
ในแต่ละครั้งที่ออกไปถ่ายทำ เราจะได้ภาพที่เราต้องการประมาณ 30% เป็นอย่างมาก
หรือมันมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้
ผมก็ไม่รู้เพราะทั่วโลกเขาก็ทำกันแบบนี้
แม้ในใจลึกๆ จะรู้สึกขัดแย้ง
แต่ความคิดของผมก็ยากที่จะเข้าใจธรรมชาติจริงๆ
เราใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6
เดือนในแต่ละปี ที่อยู่ในป่าเพื่อถ่ายภาพสัตว์ป่า แต่เวลา 3 ปีที่ผ่านไป
ความคืบหน้าของงานยังอยู่ในระดับทารก
หรือว่าไม่เหลือสัตว์ป่าในเมืองไทยให้เราถ่ายทำสารคดีแล้ว
ก่อนหน้านี้ผมเคยสงสัยเสมอเวลามีคนพูดว่าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์จากเมืองไทยแล้ว
พวกเขารู้ได้อย่างไร?
3
ปีที่ผมทำงานมา ผมลัพธ์ของภาพถ่ายอันน้อยนิดที่ถ่ายทำได้ อาจเป็นคำตอบลางๆ
แต่มันก็เป็นเวลาที่สั้นเกินกว่าจะตอบคำถามนี้
วันที่งานสำเร็จผมหวังว่าจะตอบคำถามนี้ได้ อย่างน้อยก็ให้เข้าใกล้คำตอบมากกว่านี้
ผมไม่เคยรู้หรอกว่าช่วงที่สัตว์ป่ามีเยอะเป็นยังไง
แล้วตอนนี้เรียกว่าสัตว์ป่าเหลือน้อยรึเปล่า
ถ้าหากสัตว์ป่าจะสูญพันธุ์
เราต้องพยายามให้มันอยู่รอดมั้ย หรือมันก็เป็นไปตามกระบวนการวิวัฒนาการ
ที่ผู้ที่เหมาะสมจึงจะอยู่รอด
ธรรมชาติจะเป็นผู้คัดเลือกเอง
แล้วมนุษย์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมั้ย
มีสิทธิที่จะไปกำหนดการคงอยู่หรือสูญสิ้นของสายพันธุ์อื่นรึเปล่า
“ถ้าสัตว์ป่าสูญพันธุ์หมดโลกแล้วจะเป็นยังไง”
ผมไม่แน่ใจว่าจะรู้คำตอบนี้ในช่วงชีวิตของผมไหม
ถ้าผมอายุยืนก็อาจเป็นไปได้
แต่หากผมอยู่ไม่ถึงวันนั้น
ผมคงต้องทิ้งคำถามนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป...อาจไม่นานนัก
เป็นคนตอบว่า
“โลกที่ไม่มีสัตว์ป่าเหลืออยู่อีกแล้ว” เป็นอย่างไร
เขียนปี 2553 ตอนอยู่บริษัทกรีนเอเชีย โปรดักชั่น ครับ
ตอบลบ