“ในการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ วันที่ 8-15 กรกฎาคม
2555 ณ ประเทศสิงคโปร์ นักเรียนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ถึง 2 เหรียญทอง 1
เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง”
“ในการแข่งขันคณิตศาสตร์โลก ระดับประถมศึกษา PMWC
2012 ครั้งที่ 15 ณ เขตบริหารพิเศษประเทศฮ่องกง ในระหว่างวันที่
15-20 กรกฎาคม 2555 กลุ่มนักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลรวมได้ถึง 15 รางวัล 27
เหรียญ แบ่งเป็น 21 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง”“ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ณ เมืองเซอร์มีโอเน ประเทศอิตาลี วันที่ 22-29 กันยายน 2555 นักเรียนไทยสามารถทำได้ 4 เหรียญทองแดง”
“นิสิตภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสวยงามจากการแข่งขัน ASIA BRICOM 2012 ซึ่งเป็นการแข่งขันสร้างสะพานเหล็ก หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ”
ผลรางวัลด้านบนเป็นเพียงบางส่วนของรางวัลทางวิชาการที่นักเรียน นักศึกษาจากประเทศไทยสามารถคว้ามาได้ในปี 2555
หากมองจากมุมนี้ ประเทศไทยคงนับว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา เพราะไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในระดับนานาชาติ มีจำนวนประชากร และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ได้โดดเด่นนัก แต่กลับสามารถส่งนักเรียน นักศึกษาไปทำการแข่งขันคว้ารางวัลทางวิชาการมาได้มากมาย
แต่ก็ยังมีข้อมูลในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นผลทดสอบของนักเรียนไทยเช่นกัน กลับได้ผลออกมาว่า...
“ผลคะแนนโอเน็ตในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง โดยเฉพาะ 5 วิชาหลัก สะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาไทยที่หลายหน่วยงานเตรียมเร่งหาทางออก”
“สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เผยผลวิเคราะห์ การสอบ GAT-PAT และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ ครั้งที่ 1/2556 พบคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา-เด็กคิดวิเคราะห์ไม่เป็น”
จากข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ทำให้เรามองเห็นผลลัพธ์ทางการศึกษาในปัจจุบันของไทยที่ไม่อาจหามาตรฐานได้
แต่จุดที่น่าสนใจจริงๆ ก็คือผลสรุปจากการทดสอบที่ว่า “เด็กคิดวิเคราะห์ไม่เป็น” ซึ่งเป็นผลทดสอบของนักเรียนทั้งประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นการทดสอบแข่งขันในรายวิชาใดๆ แบบทดสอบมักเป็นข้อสอบที่สามารถประเมินรูปแบบได้ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากข้อสอบในแต่ละปีมาวิเคราะห์หาแนวข้อสอบ หรือที่เรียกกันว่า “เก็งข้อสอบ”
นั่นจึงกลายเป็นว่า
ความรู้ในระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.6 เกือบ 20 ปี จะถูกวัดผลด้วยการทำข้อสอบเพียงไม่กี่แผ่น และสามารถหาแนวทางข้อสอบให้ใกล้เคียงที่สุดได้จากสถาบันกวดวิชาต่างๆ
ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งเปิดขึ้นมาเพื่อฝึกฝนทักษะในการทำข้อสอบให้กับเด็กนักเรียนโดยเฉพาะ
เรียกได้ว่า “เรียนเพื่อทำข้อสอบ” เท่านั้น
นี่คงเป็นคำตอบของผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ว่าทำไม
“เด็กไทยคิดวิเคราะห์ไม่เป็น”
ที่สำคัญการเรียนเพื่อทำข้อสอบในสถาบันกวดวิชาต่างๆ
ก็ไม่ได้ผลใดๆ เพราะผลคะแนนโอเน็ตในรอบหลายปีที่ผ่านมา
เด็กนักเรียนไทยก็ยังได้คะแนนไม่ถึงครึ่งในแต่ละวิชา แล้วการที่ผู้ปกครองและนักเรียน
ต้องสูญเสียทั้งเงินและเวลาไปกับสถาบันกวดวิชานั้นคุ้มค่าแล้วหรือไม่...
ยังไม่ต้องนับรวมถึงการสอบ
GAT-PAT
ซึ่งมีการทดสอบในส่วนของการคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์
ซึ่งภายในสถาบันกวดวิชาไม่ได้สอนอีกด้วย
คำว่า
“เก่ง” ที่ระบบการศึกษาต้องการให้เด็กนักเรียนเป็นนั้น สุดท้ายแล้วได้ผลสำเร็จหรือไม่
และนั่นคือหนทางที่เด็กนักเรียนควรจะเป็นจริงๆ หรือไม่...
หากเราลองมองชีวิตในหลายๆ
มิติจะเห็นได้ว่า ระยะเวลาเกือบ 20 ปีของชีวิตนั้น เราสามารถทำและเรียนรู้สิ่งต่างๆ
ได้มากมาย หากไม่จำกัดตัวเองอยู่แต่ในห้องเรียนและตำรา หรือมัวจดจ่ออยู่แต่กับการทำแบบทดสอบ
รูปแบบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาเป็นแบบอย่างและแนวทางในการเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาก็คือ
“โรงเรียนวิถีพุทธ”จุดเน้นของโรงเรียนวิถีพุทธคือ ดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบูรณาการ ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในทางคุณค่าแท้ ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตา เป็นฐานการดำเนินชีวิตโดยมีผู้บริหารและคณะครูเป็นกัลยาณมิตรการพัฒนา
ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี ที่มุ่งเน้นใน "คุณค่าความเป็นมนุษย์" ที่ประกอบด้วยคุณธรรมพื้นฐาน 5 ประการ อันได้แก่ ความรักและเมตตา ความจริง ความประพฤติชอบ ความสงบสุข และอหิงสา (การไม่เบียดเบียนกัน) แต่ก็สามารถผลิตนักเรียนที่สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยได้ 100% ทุกรุ่น
ซึ่งให้ผลตรงข้ามกับการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ด้านความ
“เก่ง” เพราะจะมีแต่การแข่งขัน เอาชนะ อยู่เหนือผู้อื่น
จนแม้กระทั่งเมื่อเรียนจบออกมาและเข้าสู่สังคมของการทำงานแล้ว
ก็ยังมุ่งหวังที่จะอยู่เหนือผู้อื่น ได้มากกว่าผู้อื่น
ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์และความสำเร็จของตัวเอง ซึ่งผลสุดท้ายเราก็จะได้สังคมที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว
แก่งแย่งแข่งขันกัน
การศึกษาจึงเป็นหนทางแห่งการสร้างอนาคตทั้งของตนเองและสังคม
...ไม่ว่าจะดีหรือร้ายถ้าเพียงแต่เส้นทางแห่งการศึกษามิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงหนทางเดียว แต่สามารถเปิดเส้นทางที่หลากหลายให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน โดยมุ่งให้ความสำคัญและพัฒนาจิตใจของผู้ศึกษามากกว่าความรู้ที่ผู้ศึกษาจะได้รับ ปลายทางแห่งการศึกษานั้นย่อมถึงพร้อมทั้งด้านจิตใจ ความคิด และปัญญา
และสังคมที่ถูกขับเคลื่อนไปด้วยบุคคลเช่นนี้ย่อมมีแต่ความสุขสงบ ไม่เบียดเบียนกัน และมีพื้นที่เหลือมากพอสำหรับทุกๆ ชีวิตได้อยู่ร่วมกัน
ทั้งหมดนี้เป็นไปได้
...เพียงแค่เราเลือกเส้นทางแห่งการศึกษาให้ถูกต้องเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น