ตัวตนบนเส้นทางของอดีต
จัดจำหน่ายปี 2007 : ประเทศอังกฤษ
แคนาดา สหรัฐอเมริกา
http://www.imdb.com/title/tt0765443/?ref_=sr_1
สังคมที่เราไหลวนอยู่ในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมของผู้แสวงหาตัวตนและมุ่งแสดงออกถึงอัตตาของตนเอง
ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีมนุษย์มากมายที่ตั้งคำถามถึงจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่ว่า
มนุษย์เราเกิดมาทำไม และมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ผู้คนมากมายออกแสวงหาคำตอบ
และพบคำตอบที่ต่างกัน
สำหรับคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา
ศาสดาของเรามีคำตอบต่อการเกิดของมนุษย์ไว้ชัดเจนแล้ว นั่นคือ
มนุษย์เกิดมาเพื่อปฏิบัติสู่หนทางที่จะไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก
ซึ่งแม้คนจำนวนไม่น้อยจะรู้คำตอบนี้ดีอยู่แล้ว
แต่กลับมีเพียงเศษเสี้ยวเดียวที่ทำได้ ประชากรโลกจึงยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกปี ทั้งๆ
ที่ความตายก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอพอๆ กัน
อย่างใน Eastern Promises ก็เปิดฉากเรื่องราวด้วยความตายของมาเฟียคนหนึ่ง ตามติดมาด้วยความตายของเด็กสาวผู้ถูกให้ค่าเป็นเพียงภาชนะของการให้กำเนิดทารก
บนเส้นทางเดียวกันนั่นเองที่บรรจุความตายและการเกิดไว้
โดยมี แอนนา ผู้ทำคลอดทารกนั้นได้เป็นประจักษ์พยานของชีวิตใหม่
ซึ่งนำไปสู่การผสานเรื่องราวครั้งนี้เข้ากับความทรงจำครั้งเก่า ที่เคยสูญเสียลูกไปตั้งแต่ยังไม่ได้ให้กำเนิด
และนั่นเป็นชนวนสู่ประตูบานใหญ่ของโลกอาชญากรรม ซึ่งมี นิโคไล เป็นยามเฝ้าประตูบานนั้น
คำถามที่น่าสนใจก็คือ
อะไรกันที่ผลักดันให้คนเรากล้าเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวที่สุด
หรือเป็นความเชื่อในสิ่งที่เรียกว่า
ความถูกต้อง
ถ้าเช่นนั้น อะไรกันที่เรียกว่าความถูกต้อง
ตัวเราเองสามารถชี้ถูกผิดในสิ่งต่างๆ
ได้ชัดแจ้งจริงๆ หรือ
เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเห็นอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น
คำตอบคงจะพบได้จากการกระทำ
แอนนาจึงไม่ลังเลที่จะต่อสู้เพื่อให้ทารกน้อยๆ ได้รับสิ่งที่เธอเชื่อว่าคู่ควร
หากแต่ฝ่ายตรงข้ามนั้นทรงอิทธิพลเกินกว่าผู้หญิงบอบบางเพียงคนเดียวจะจัดการได้
เพราะมันคืออำนาจของมาเฟียรัสเซียที่ปกครองเมืองนี้อยู่
อำนาจที่ถูกสลักไว้บนผิวหนังบางๆ ที่เราเชื่อว่าเป็นภาพลักษณ์แทนตัวตนของเราอย่างหนึ่ง
เมื่อเพิ่มรอยสักแทนตัวตนเข้าไปอีก สถานะดั้งเดิมของเราก็เปลี่ยนไปตามลวดลายที่สลักลง
ภาพยนตร์แสดงให้เราเห็นว่าตัวตนมีคุณค่าเท่านี้เอง
เขียนเพิ่มเติมลงไปอย่างไรก็ได้
ด้วยสมมุติที่ถูกเขียนทับลงไปบนสมมุติของตัวตนอีกที ว่าเราเป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง
เป็นหมอ เป็นพ่อครัว เป็นมาเฟีย เป็นตำรวจ หรือเป็นนักฆ่า
แม้แต่ในสังคมทั่วไปก็เป็นเช่นนั้น
เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้าทาปาก ยานพาหนะที่ใช้ สถานที่ที่อยู่
ล้วนใช้บ่งบอกตัวตนทางสังคม ซึ่งมันก็คงมีค่ากับคนที่ยอมรับมันเท่านั้นเอง
เพราะเมื่อเราเปลือยเปล่าจากอาภรณ์ที่ประดับอยู่บนตัวเราแล้ว
ก็เหลือเพียงผิวหนังที่ปกปิดสังขารนี้ไว้เท่านั้น
นั่นคือความหมายดั้งเดิมที่ว่าเราก็ไม่ต่างกันกับใครๆ
ฉากที่แฝงความหมายนี้ไว้อย่างชัดเจนคือการต่อสู้ของนิโคไลในห้องอาบน้ำกับนักฆ่าทั้งสองคน
เพราะเมื่อต้องเปลือยเปล่าเราจะรู้ตัวตนของกันได้อย่างไร ในสังคมมาเฟียจึงใช้รอยสักเพื่อบอกสถานะ
เป็นสมมุติที่แนบชิดไปกับสมมุติของผิวหนังอีกชั้นหนึ่ง ทั้งที่นิโคไลเพิ่งได้รับรอยสักที่บ่งบอกถึงความสำคัญสูงสุด
แต่มันกลับทำให้เขาเข้าใกล้ความตายมากที่สุดเช่นกัน
ทางออกก็คือหากอยากรักษาชีวิตหรือตัวตนของคุณไว้
คุณก็ต้องทำมันด้วยตัวเอง เพียงแต่คุณจะยังแน่ใจในตัวตนนั้นอยู่มั้ย
ว่าใครกันแน่ที่คุณเป็น
พวกเราทุกคนต่างเผชิญกับสภาวะนั้นอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน
เราถูกล่อหลอกด้วยสื่อต่างๆ ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
หรือควรเป็นเช่นไรถึงจะเหมาะสมกับผู้คนในยุคนี้
สมมุติของตัวตน สมมุติของยุคสมัย
สมมุติในแต่ละสังคม บางครั้งก็มากมายจนสับสน จนบางคนหาทางออกด้วยความตาย
บ้างหาทางออกด้วยการทำร้าย บ้างหาทางออกด้วยการหนีเข้าสู่โลกเสมือนของคอมพิวเตอร์
แท้ที่จริงเราทุกคนล้วนอยากหนีจากความเลวร้าย
ทั้งความเลวร้ายในอดีตและในปัจจุบัน แต่คำตอบที่ถูกต้องควรเป็นการหลบหนีหรือการเผชิญหน้า
ตัวละครที่ชื่อว่า คิริล ได้เลือกคำตอบในตอนท้ายให้เราว่าจะทำลายหรือรักษาชีวิตน้อยๆ
นั้นไว้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ทำให้เห็นว่าหากจะมีตัวตนใดที่สำคัญที่สุดตัวตนนั้นก็คือ
ตัวตนที่อยู่ภายในใจเราในปัจจุบัน ซึ่งไม่สำคัญว่าจะมีใครมองเห็นหรือไม่
ขอเพียงให้เรายังมองเห็นมันอย่างชัดเจนก็เพียงพอแล้วที่จะก้าวเดินต่อไป
ในเส้นทางที่แอนนาได้มีลูกสาวอีกครั้ง
ในเส้นทางที่นิโคไลได้เข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งใจไว้
ในเส้นทางที่อดีตเป็นเพียงสิ่งที่ให้เราได้ก้าวข้ามผ่าน
เพื่อที่วันหนึ่งข้างหน้าเราจะได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วไม่เคยมีตัวตนของเราหรือของใคร
เพราะไม่เคยมีสิ่งใดอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้นมาเองเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น