วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

On The Road 3 วัน 2 คืน 1,662 กิโลเมตร (ลำปาง-ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย-กำแพงเพชร-อยุธยา) Part 1

10-12.12.2016

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2559

     ทริปนี้ผมตั้งใจจะไปชมมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย 2 แห่งคือ 
     1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (ศรีสัชนาลัย กับ กำแพงเพชร)
     2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

     มรดกโลกในประเทศไทยมีทั้งหมด 5 แห่ง เป็นทางวัฒนธรรม 3 แห่ง อีกแห่งคือ "แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง" (จ.อุดรธานี)
     ส่วนอีก 2 แห่งที่เหลือเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ คือ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง" อยู่ทางฝั่งตะวันตก และ "ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" อยู่ทางฝั่งตะวันออก

     การที่ประเทศไทยเรามีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 5 แห่งนั้นผมว่าไม่ธรรมดา ในฐานะที่เป็นคนไทย เกิดและเติบโตในเมืองไทย ถ้ามีโอกาส น่าจะไปเยือนให้ครบทั้ง 5 แห่ง 

     นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นี่ผมเคยไปถ่ายสารคดีเมื่อสิบกว่าปีก่อน
     ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติทั้ง 2 แห่ง ผมได้ไปบ่อยตอนทำสารคดีธรรมชาติเมื่อหลายปีก่อน
     แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ก็เคยไปเที่ยวแล้ว มีแต่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นี่แหละที่ผมจำไม่ได้ว่าเคยไปหรือเปล่า 

     เมื่อตัดสินใจขับรถยนต์ไปเอง ก็คิดว่าน่าจะไปให้ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา จะได้เที่ยวให้ครบทั้ง 2 ที่เลย
     ด้วยความที่ผมไม่รู้ว่า เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร มีรายละเอียดอย่างไร ผมเลยคิดว่าคงใช้เวลาเที่ยวไม่นาน วันนี้วันเดียวก็น่าจะเที่ยวหมด คืนนี้เลยกะจะไปนอนที่ จ.นครสวรรค์ พรุ่งนี้จะได้ไป จ.พระนครศรีอยุธยา ใกล้ๆ ...แต่พอไปจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างนั้น

     จาก จ.ลำปาง ผมขับมาทาง อ.วังชิ้น เพื่อจะไป อ.ศรีสัชนาลัย หนึ่งในเมืองบริวารของสุโขทัย (รูปถ่ายในบทความนี้ถ่ายด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถือทั้งหมด)
แผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
     ด้วยความไม่รู้ว่าต้องเริ่มเที่ยวตรงจุดไหน ผมเลยนั่งรถที่เค้าให้บริการอยู่ภายในอุทยานฯ คนละ 20 บาท (ช่วงนี้จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2560 อุทยานที่ผมไปในทริปนี้ เข้าฟรีไม่เสียเงิน เสียแต่ค่ารถ ถ้าเราขับเข้าไป) มีคนลุงท่านนึงเป็นคนขับรถ ซึ่งแกจะบรรยายประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ให้ฟัง แต่รถที่ให้บริการจะวนแค่รอบเล็กๆ และจอดให้นักท่องเที่ยวลงชม "วัดช้างล้อม" กับ "วัดเจดีย์เจ็ดแถว"
"วัดช้างล้อม"

ด้านหน้าเป็นวิหาร เหลือแต่เสา

เจดีย์อยู่ด้านหลัง

จะมีช้างล้อมรอบอยู่ที่ฐาน 39 เชือก

นักท่องเที่ยวเดินนับช้าง ถ้านับได้ถูกต้อง เค้าว่าจะโชคดี

นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เจอยังคงแต่งดำไว้ทุกข์ รวมไปถึงชาวต่างชาติหลายๆ คน น่าชื่นชม

มุมมองจากระเบียงรอบเจดีย์ (เหนือช้าง) มองกลับไปทางถนน
     ปกติถ้าไปเที่ยวชมโบราณสถานแบบนี้ ผมจะไม่กล้าขึ้นไปเดิน เพราะกลัวจะสร้างความเสียหายให้โบราณสถาน แต่ที่นี่เจ้าหน้าที่เค้าให้ขึ้นได้ คงจะทดสอบแล้วว่าโครงสร้างยังแข็งแรงดีอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมากว่า 700 ปีแล้ว สุดยอดจริงๆ
     อีกฝั่งของถนนจะเป็นวัดเจดีย์เจ็ดแถว อันนี้ผมไม่ได้ดูละเอียด เพราะนักท่องเที่ยวท่านอื่นที่นั่งรถมาด้วยกัน กลับขึ้นรถไปหมดแล้ว ผมกับแฟนเลยรีบวิ่งกลับไปที่รถ... เกรงใจเค้า

"วัดเจดีย์เจ็ดแถว"
     ผมนั่งครบรอบแล้วรู้สึกว่าไม่หนำใจ เลยออกมากินข้าวกลางวันก่อน แล้วเช่าจักรยานปั่นให้ทั่วอีกที ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท
     ตั้งใจจะปั่นให้ทั่วแนวคูเมืองด้านในทั้งหมด ผมปั่นไปจนถึงวัดเขาสุวรรณคีรี (ทางทิศเหนือ) ก่อนจะถึงวัดเป็นเนินค่อนข้างชัน ต้องลงเข็นจักรยานขึ้นไป และมีขี้นกเยอะมากกก
เต็มไปด้วยนกยาง

ซากวิหารบนยอดเขา
เจดีย์ "วัดเขาสุวรรณคีรี"

ปั่นลงมาด้านล่างแล้วมองย้อนกลับไปเห็นเจดีย์วัดเขาสุวรรณคีรี
     ผมปั่นเลยเถิดไปเรื่อยๆ เจอซากโบราณสถานก็แวะ


     จนมาถึงวัดกุฏีราย ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองชั้นใน (มีทางกั้นเตี้ยๆ ผมเลยยกจักรยานข้ามมา แหะๆ)
"วัดกุฏีราย" ด้านขวาของภาพเป็นถนนที่ใช้กันทั่วไป และวิ่งไปชมเตาทุเรียงได้ทางนี้
     เริ่มกลัวว่าจะไกลเกิน เลยปั่นกลับมาแวะที่วัดนางพญา (ทางทิศใต้)

ภายในวัดนางพญา ด้านหน้าเป็นวิหารเหลือเพียงแค่เสา
ลวดลายที่ยังเหลืออยู่ งดงามมากๆ


เจดีย์วัดนางพญา

ด้านหลังเป็น "วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่" 
เดินมาตามทาง



เจดีย์เหลือแค่ช่วงฐาน

ถัดไปด้านหลังเป็น "วัดเจดีย์เจ็ดแถว"
     ผมเองไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ แต่ดูแล้วก็สงสัยว่าวัดอยู่ติดกันขนาดนี้จะทำแนวกำแพงกั้นไว้ทำไม ทำไมไม่รวมเป็นวัดเดียวกันไปเลย พื้นที่แต่ละวัดก็ไม่กว้างนัก เห็นแล้วก็อยากรู้วิถีชีวิตคนสมัยนั้น

"วัดเจดีย์เจ็ดแถว"

วิหารค่อนข้างใหญ่


เจดีย์รายรอบๆ

เจดีย์ประธาน
     ดูแล้วก็เพลิน ผมค่อยๆ เดิน ค่อยๆ ดู แล้วก็นึกถึงวิถีชีวิตผู้คนในสมัยนั้น ว่าเค้าใช้พื้นที่นี้อย่างไร ทำไมถึงสร้างเป็นผังแบบนี้ ขนาดเท่านี้ ตัววิหารที่เหลือเพียงแค่เสานั้น ผมเดาว่าส่วนหลังคาพวกแป จันทัน ฯลฯ น่าจะใช้ไม้ในการก่อสร้าง จึงพังหมดแล้ว
     ที่ผมได้ไปชมเป็นเพียงแค่บางส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งกว้างมาก และยังมีโบราณสถานอีกหลายจุดให้เที่ยว แต่วันนี้ผมยังต้องไปอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอีก และตอนนี้ก็บ่ายสามโมงกว่าๆ แล้ว...เลยได้เวลาต้องเดินทางต่อ

     ก่อนจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ผมขอแวะไปชม "เตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย" อีกหนึ่งจุด (จริงๆ จะแวะ "เตาทุเรียงบ้านป่ายาง" แต่ขับเลยมา)
เตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย

ตัวอาคารทำครอบไว้ 2 เตา อันนี้เป็นอีกเตาหนึ่ง

เตามีขนาดใหญ่มาก

จัดแสดงตัวอย่างและคำอธิบายไว้ตามผนังโดยรอบอาคาร
     คุ้มค่ากับการแวะมาดูจริงๆ เพราะถ้าไม่ได้มาเห็นเอง ก็ไม่คิดว่าเตาเผาถ้วยชามสังคโลกจะใหญ่ขนาดนี้ เกินคาดมากๆ บริเวณผนังจะมีคำอธิบายการทำโดยละเอียดให้อ่านทำความเข้าใจควบคู่กันไป

     ที่ลำปางมีเตาเผาโบราณ เรียกว่า "เตามังกร" ผมเคยไปถ่ายสารคดีเมื่อนานมาแล้ว อันนั้นก็ว่าใหญ่แล้ว (ปัจจุบันเตามังกรอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี จ.ลำปาง เปิดให้ชมพร้อมสาทิตการทำชามตราไก่ น่าแวะไปชมกันครับ) มาเจอที่นี่ใหญ่กว่าเยอะเลย

     ดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าผู้คนสมัยก่อนมีความสามารถสูงจริงๆ ทั้งการวางผังเมือง การก่อสร้างต่างๆ น่าชื่นชมมากๆ

     ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาทำให้ผมต้องรีบเดินทางต่อไปที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
     ผมไปถึงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยประมาณ 17.00 น. สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่าอุทยานฯ ปิด 21.00 น. เลยเช่าจักรยานปั่นรอบๆ แต่จักรยานต้องเอามาคืนตอน 18.00 น. เวลาที่เหลือเราก็ค่อยเดินเท้ากันเองละกัน

     ผมเริ่มปั่นไปทาง "วัดศรีสวาย" ก่อน เพราะคิดว่าจะปั่นดูคร่าวๆ หนึ่งรอบ แล้วกลับมาเดินที่ "วัดมหาธาตุ"
"วัดศรีสวาย"

พระปรางค์ มี 3 ยอด
     รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดศรีสวาย น่าจะเป็นแบบ "ขอม" จากหลักฐานที่เจอเค้าสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วค่อยแปลงเป็นพุทธสถานในภายหลัง

     จากนั้นผมก็ปั่นไปเรื่อยๆ เลยไม่ค่อยได้ถ่ายรูป



     จนถึงเวลา 18.00 น. ผมก็เอาจักรยานไปคืน แล้วเดินเที่ยวต่อ พอดีในคืนที่ผมไปเค้าจัดงาน "25 ปี มรดกโลก เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" เลยได้เที่ยวชมแสงสีที่เค้าจัดแสดงไว้ตามโบราณสถาน
พิธีเปิดงาน

"วัดมหาธาตุ"

สีสันหลากหลาย








     ถ่ายภาพตอนกลางคืนนี่เห็นข้อจำกัดของกล้องจากโทรศัพท์มือถือเลย อย่างนึงอาจเป็นเพราะผมใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าแล้ว ถ้าเป็นรุ่นใหม่ๆ คงดีขึ้น แต่ด้วยขนาดเซนเซอร์รับภาพเองก็เป็นข้อจำกัดอย่างนึง ขนาดเล็กเลยมีพื้นที่รับแสงน้อย
     เรื่องกล้องสำหรับการท่องเที่ยวนี่ ผมคิดว่ากล้องแบบ Mirrorless น่าจะตอบโจทย์ที่สุด ด้วยขนาดตัวที่เล็ก แต่เซนเซอร์ขนาดใหญ่ คือพกพาสะดวก ให้คุณภาพของภาพสูง...แต่ผมยังไม่มีกล้องแบบนี้ใช้นี่สิ ไว้มีโอกาสจะหามาลองสักตัว

     ภายในงาน "25 ปี มรดกโลก เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2559 ถึง 3 มกราคม 2560 เวลา 18.00 ถึง 21.00 น. ณ บริเวณวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจัดแสดงนิทรรศการ และขายอาหารไทยพื้นบ้าน (วันเสาร์-อาทิตย์-วันหยุด) ให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกัน ผมเองก็ได้ทานข้าวเย็นกันที่นี่แหละ

     หลังจากนั้นผมก็ออกมาหาที่พัก ซึ่งไม่ได้เตรียมข้อมูลมา เพราะทีแรกจะไปนอนที่ จ.นครสวรรค์ เป็นโรงแรมที่เคยไปนอน 2-3 ครั้งแล้ว อาหารอร่อยด้วย...แต่คืนนี้ต้องสุ่มหาเอง

     ขับรถออกมาจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยไม่ไกล มีที่พักหลายๆ แบบให้เลือก ผมได้ที่พักแถวๆ นั้น เพราะตั้งใจว่าตอนเช้าจะไปหาของกินที่ตลาดข้าง "วัดตระพังทอง"

     เอาของเข้าที่พักแล้วก็ขับรถไปเที่ยวในตัวเมืองสุโขทัยหน่อย ขับไปแบบไม่มีข้อมูล ตั้งใจว่าแค่มีที่นั่งกินอะไรสักหน่อยก็โอเคละ แต่สงสัยวันนี้ผมจะโชคดีเรื่องของกิน คือไปเจอถนนคนเดินแถวๆ สวนสาธารณะเมืองสุโขทัย เสียแต่ว่าผมไปดึกแล้ว ร้านค้าต่างๆ เริ่มทยอยเก็บของกันไปบ้าง คะเนจากที่มองเห็นด้วยสายตา ถนนคนเดินที่สุโขทัยนี่ยาวมาก
     ผมเดินไปไม่ถึงร้อยเมตรก็เดินกลับละ ขับรถมาทั้งวันอยากไปนอนแล้ว แต่ก็ได้ขนมอร่อยมากมา 2 อย่าง คือ "ข้าวควบ" กับ "หมี่กรอบ" อร่อยกว่าที่ผมเคยกินมา (เขียนไปนี่ยังอยากกินอยู่เลย)
     วันนี้หมดพลังงานแล้ว คงต้องขอกลับไปนอนก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยวางแผนใหม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง
     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น