**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง เหมาะสำหรับผู้ที่ดูหนังจนจบแล้ว เพราะจุดเฉลยน่าประทับใจมากทีเดียว
คุณค่าของช่วงเวลา
http://www.imdb.com/title/tt2543164/?ref_=nv_sr_1ภาพยนตร์เป็นสื่อหนึ่งที่นำเรื่อง "เวลา" มาบิดผันและนำเสนอได้เกินกว่าที่เรารับรู้ได้ในความเป็นจริง
ในโลกจริง (โลกที่เราใช้ชีวิตและหายใจอยู่) เราดำเนินอยู่ในกระแสเวลาที่ไหลไปตามลำดับก่อนหลัง คือ จาก 1 ไป 2 - จาก 2 ไป 3 - เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ไม่สามารถกระโดดไปที่ 10 แล้วค่อยกลับมาที่ 5-6-7-... แบบนี้ได้
จะยกเว้นก็แต่ในความฝัน ที่เราสามารถฝันได้อย่างอิสระและไม่เป็นไปตามลำดับเวลา แต่เรายังสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวได้ ทั้งในขณะฝันและเมื่อตื่นขึ้นมา
แสดงว่าแท้จริงแล้ว "สมอง" ของเราสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ แบบไม่เป็นลำดับเวลาได้ เพียงแต่เราอาจไม่เคยใช้งานสมองของเราในลักษณะนั้น
บางข้อมูลบอกว่าเราใช้สมองไม่ถึง 10% ของความสามารถจริงๆ ของสมอง (พูดให้ดูเวอร์ๆ ไว้ก่อน)
ในภาพยนตร์เรื่อง Arrival มีตัวละครตัวหนึ่งที่เรียนรู้การใช้งานสมองในลักษณะนั้น ก็คือ ตัวเอกของเรื่อง หลุยส์ (Amy Adams)
หลุยส์ เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ ที่เก่งที่สุดในอเมริกา ประมาณว่าเข้าใจภาษาได้ทุกชนิดบนโลก (พูดให้ดูเวอร์ๆ ไว้ก่อน ภาค 2)
จึงได้รับหน้าที่ให้มาสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว "ผู้มาเยือน" โลก เพื่อจะได้รู้ว่าเค้ามาทำไม ต้องการอะไร
ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะหนังฮอลลีวูดโดยทั่วๆ ไปที่มีมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลก มักจะคุยกันรู้เรื่องเลย หรือไม่คุยกันเลย
ผมไม่แน่ใจว่า Arrival เป็นเรื่องแรกหรือเปล่าที่เนื้อหาหลักของเรื่องเป็นการสอนภาษามนุษย์ต่างดาวเพื่อจะสามารถสื่อสารกันได้ตรงตามความต้องการของทั้ง 2 เผ่าพันธุ์
ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และไม่น่าเล่าเรื่องให้สนุกได้ แต่ Arrival กลับเล่าเรื่องได้น่าติดตามมากๆ
ผู้กำกับสามารถใช้ศิลปะของภาพยนตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการ "ซ่อนและเปิดเผย" โดยใช้การ "ตัดต่อลำดับภาพ" เป็นตัวล่อหลอกและกระตุ้นให้คนดูสงสัย
การลำดับภาพในช่วงแรกทำให้เราเข้าใจว่า หลุยส์ นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ลูกสาวตาย เพราะหนังเรื่องอื่นๆ ใช้การลำดับภาพแบบนี้เพื่อสื่อความหมายว่านึกถึงอดีต แต่กับเรื่องนี้ไม่ใช่
ไม่ใช่ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องเลยทีเดียว เพราะทั้งเรื่องคือ อดีตของหลุยส์ คือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และ หลุยส์ มาเล่าให้คนดูฟังอีกที
คำใบ้ที่สำคัญอันหนึ่งที่หนังให้คนดูก็คือ คำพูดที่ เอียน (Jeremy Renner) พูดกับ หลุยส์ ว่า "เมื่อสมองต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ สมองจะเปลี่ยนระบบคิด เพื่อทำความเข้าใจภาษานั้น ตามวิธีคิดของเจ้าของภาษา"
มนุษย์ต่างดาวที่ถูกผู้กำกับซ่อนไว้ แล้วค่อยๆ เผยออกมาให้คนดูเห็น แม้จะนึกว่าเห็นหมดแล้ว แต่ในตอนท้ายยังมีเผยออกมาให้เห็นมากกว่านั้นอีก และมนุษย์ต่างดาวนี้เองที่เฉลยให้คนดูได้รับรู้ชัดๆ ว่า "พวกเค้าสามารถมองเห็นอนาคตได้"
เมื่อ หลุยส์ สามารถเข้าใจภาษาของมนุษย์ต่างดาวก็แสดงว่าสมองของหลุยส์ สามารถมองเห็นอนาคตได้แล้ว เพราะสมองของหลุยส์ได้ปรับเปลี่ยนระบบคิดไปเป็นแบบมนุษย์ต่างดาวแล้วนั่นเอง
ภาพของลูกสาวที่ หลุยส์มองเห็นก็คือลูกสาวในอนาคต ที่ตอนนี้ยังไม่เกิด ซึ่งพ่อเด็กก็คือ เอียน ที่เพิ่งเจอกันในภาระกิจนี้
ในที่สุดมนุษย์ต่างดาวก็บรรลุวัตถุประสงค์ ที่จะให้ทุกชาติในโลกสามัคคีกัน จะได้อยู่รอดไปอีก 3,000 ปี แล้วเค้าจะมาขอความช่วยเหลืออีกที
ในหนังเรื่องนี้มนุษย์ต่างดาวไม่ได้มอบเทคโนโลยีล้ำสมัยอะไรให้ แสดงว่าแค่เราไม่ฆ่ากันเองก็อยู่รอดไปได้อีก 3,000 ปีละ
การที่สมองของหลุยส์สามารถท่องไปในกระแสเวลาได้ ประเด็นนี้ผมขอขยายความอีกนิดนึง ว่าด้วยเรื่อง "มิติ" แบบง่ายๆ ที่ผมเข้าใจ คือถ้ายากกว่านี้ผมก็ไม่เข้าใจละ 555+
1 มิติ คือ เส้น (ความยาว)
2 มิติ คือ ระนาบ หรือ รูปร่าง หรือ พื้นที่ (กว้างxยาว)
3 มิติ คือ รูปทรง (กว้างxยาวxสูง)
4 มิติ คือ 3 มิติที่บวกเรื่อง "เวลา" เข้ามา
หนังให้จุดสังเกตไว้คือ มนุษย์ต่างดาวเขียนภาษาแบบ 3 มิติ คือมีความลึกด้วย การจัดลำดับเลยทำได้มากขึ้นอีก 1 มิติ
ส่วนมนุษย์เขียนภาษาแบบ 2 มิติ คือ กว้างxยาว ก็จะไม่มีการอ่านแบบทางลึก (ยกเว้นรหัสลับของหนังบางเรื่อง)
มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตแบบ 3 มิติ เมื่อเราหยิบกระดาษซึ่งเป็น 2 มิติ ขึ้นมาเราจะสามารถมองเห็นกระดาษ (2 มิติ) ได้ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดท้าย หมุนกลับไปมาอย่างไรก็ได้
นั่นหมายความว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในมิติที่สูงขึ้นไป เช่น 5 มิติ, 6 มิติ, ฯลฯ จะสามารถมองเห็นสิ่งมีชีวิตในมิติที่ต่ำลงไปตั้งแต่ต้นจนจบ
สรุปง่ายๆ ว่า สิ่งมีชีวิตใน 5 มิติ ขึ้นไปสามารถรู้อนาคตได้หมด เพราะมองเห็นเวลาซึ่งเป็น 4 มิติ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ (Interstellar (2014) ก็ใช้แนวคิดนี้เหมือนกัน)
แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะเวลา หรืออยู่นอกเงื่อนไขของเวลา คือ ถึงจะรู้ว่าต้องตายเมื่อไร ก็เอาชนะความตายไม่ได้อยู่ดี แค่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร
เหมือนที่เสียงของ หลุยส์ พูดเอาไว้ในตอนจบ "ถึงจะรู้ว่าตอบจบเป็นอย่างไร ต้องเศร้าเสียใจแค่ไหน ชั้นก็ยังอยากใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้นอยู่ดี"
ความสำคัญของการมีชีวิตอยู่จึงมิใช่อยู่ได้นานแค่ไหน แต่อยู่ที่เรามองเห็นคุณค่าในทุกขณะของชีวิตหรือไม่
ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า
"อดีต" ผ่านไปแล้ว ย่อมควรละ
"อนาคต" ยังมาไม่ถึง จึงไม่ควรวิตก
มีเพียง "ปัจจุบัน" เท่านั้นที่เราจัดการได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น