ความประทับใจแรกหลังจากดูหนังเรื่อง Die Tomorrow (2017) คือ ไอเดียดี
การจะเล่าเรื่องความตายให้สะกิดใจคนได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย
หนังเอาข่าวความตาย (น่าจะแต่งขึ้น) มาต่อกันแล้วนำเสนอเหตุการณ์ก่อนวันตาย
หรือผลกระทบต่อคนที่ยังอยู่จากการตายนั้น สอดแทรกมุมมองต่อความตายหลายๆ แบบผ่านตัวละคร
โดยมีบทสัมภาษณ์เด็กประถมกับคุณปู่วัย 104 ปี เป็นอีกเส้นเรื่องที่เสนอมุมมองต่อความตาย
มีประโยคที่คุณปู่พูดว่า "มีคนข้างบนกำหนดความตายของเรา" เป็นแนวคิดที่ได้ยินกันมานาน แต่พอเป็นคนที่อยู่มา 104 ปีพูด มันก็ฟังดูมีน้ำหนัก
หนังจบด้วยข่าวและภาพการตายอย่างสงบในบ้านของคุณลุงคนนึง ...เป็นความตายที่เรียบง่าย
เช่นเดียวกับหนังทั้งเรื่องที่ดูเรียบง่าย แต่ก็รู้ได้ว่าผ่านการคิดและจัดวางมาอย่างดี
งานแบบนี้มันยากตรงความพอดี ที่จะให้มีความ popular ในความ minimal ซึ่งผลลัพธ์ก็ลงตัวดี
มีความแปลกใหม่ในการนำเสนอและเข้าถึงได้ง่าย
ในชีวิตจริงมีข่าวความตายแปลกๆ ให้ได้รับรู้อยู่เสมอ
หลายปีก่อนผมเคยได้ดูข่าวคนถูกรถบรรทุกชนตายขณะนั่งดูทีวีอยู่ในบ้าน
โดยที่บ้านมีลักษณะเป็นห้องแถวชั้นเดียวติดถนน อยู่ในเมืองไทยเรานี่เอง
หลังจากได้เห็นข่าวนี้ ผมก็ปล่อยวางเรื่องความตายได้อย่างสบายใจ
เพราะถ้านั่งดูทีวีอยู่ในบ้านยังถูกรถชนตายได้ อยู่ที่ไหนยังไงก็ตายได้ทั้งนั้นละ...ไม่ต้องวิตกไป
มันทำให้ผมคิดว่า "ความตาย" เกิดมาพร้อมกับ "ชีวิต" และทั้งคู่อยู่ในตัวเรามาตั้งแต่ต้น
เพียงแต่เมื่อ "ชีวิต" เริ่่มดำเนินไป "ความตาย" ก็เพียงเดินตามมาห่างๆ
จนวันหนึ่ง "ความตาย" ก็จะเดินมาทัน และตบบ่า "ชีวิต" เบาๆ พร้อมกับบอกว่า "ถึงตาเราแล้วว่ะ"
"ชีวิต" ก็ทำได้เพียงหันกลับไปมอง "ความตาย" และยิ้มให้ด้วยความรู้สึกของเพื่อนเก่าที่ไม่เคยเจอกัน
แต่รู้ว่าสักวันต้องได้พบ
เมื่อ "ความตาย" มาถึง "ชีวิต" ก็จากไป
จนถึงวันที่ต้องเกิดใหม่ "ชีวิต" ก็มาหา "ความตาย" และรับหน้าที่ไปอีกครั้ง
ในมุมมองนี้ คำสอนของพุทธศาสนา อาจมุ่งหวังให้ทั้ง "ชีวิต" และ "ความตาย" ได้พักไปตลอดกาล...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น