วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เรื่องราวในเรื่องเล่า ep.7 (โครงสร้างสามองก์) The Three-Act Structure

<< กลับไปอ่าน : ep.6 (บทภาพยนตร์) Screenplay

ในแต่ละ "องก์" (Act) จะประกอบไปด้วย "ฉาก" (Scene) ตั้งแต่ 1 ฉาก หรือหลายๆ ฉากต่อเนื่องกันไป
เกิดจากเรื่องราวเล็กๆ ที่รวมเข้าด้วยกันเป็นเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้น
ซึ่งคนดูจะได้รับ "สาร" (Message) สำคัญที่ชัดเจนอันหนึ่ง
ที่จะทำให้อยากจะดูต่อไปจนถึงองก์สุดท้าย
กระทั่งได้รับสารที่สำคัญที่สุดอันเกิดจากการรวมกันของทั้ง 3 องก์

แล้วทำไมต้อง 3 องก์?


การเล่าเรื่องเป็นองก์นี้ก็มีมาตั้งแต่สมัยละครเวทีแล้ว
ซึ่งได้ส่งต่อมายังการเล่าเรื่องในภาพยนตร์
เมื่อนักวิชาการภาพยนตร์นำภาพยนตร์ร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมสูง
มาถอดองค์ประกอบ จะพบจุดที่คล้ายๆ กัน
คือ สามารถแบ่งหนังทั้งเรื่องออกมาได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ ตามความคืบหน้าของเนื้อหา

ผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "คำนำ / เนื้อเรื่อง / สรุป" 

องก์ที่ 1 : "คำนำ" 
บอกให้คนดูรู้ว่าจะได้ดูเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร

องก์ที่ 2 : "เนื้อเรื่อง"
ทำให้คนดูอยากดูต่อไปจนจบ

องก์ที่3 : "สรุป"
ทำให้คนดูอิ่มเอมและจากไปอย่างมีความสุข

แล้วข้อมูลแค่ไหนที่จะทำให้คนดูรู้ว่ากำลังดูเรื่องเกี่ยวกับอะไรในองก์ที่ 1?
อันนี้ก็แล้วแต่ "แนวหนัง" (Genre) นั้นๆ

เช่น หนังรัก (Romantic) อาจต้องให้คนดูรู้จักตัวละครเยอะหน่อยจะได้ผูกพันและคล้อยตามไปกับความรู้สึกของตัวละคร
แต่หนังลึกลับ (Mystery) อาจไม่ต้องให้คนดูรู้อะไรมากนัก เพื่อให้คนดูเกิดความสงสัย และอยากรู้เรื่องราวต่อไป

โดยส่วนใหญ่แล้วองก์ที่ 1 คนดูควรรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน ในยุคสมัยใด ตัวละครเป็นแบบไหน มีความต้องการอย่างไร

ในส่วนขององก์ที่ 2 ตัวละครจะเกิดการกระทำ (Action) หลายๆ อย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย และจะเผชิญกับอุปสรรค (Ostacle) 
ซึ่งจะต้องฝ่าไปให้ได้

เช่น ผู้ชายพยายามจีบหญิงสาวด้วยวิธีการต่างๆ (แต่ก็ยังไม่สำเร็จ)
หรือชายลึกลับพยายามหาทางออกจากห้องปิดตายด้วยวิธีการต่างๆ (แต่ก็ยังไม่สำเร็จ)

สำหรับองก์ที่ 3 ตัวละครจะเจอปมขัดแย้ง (Conflict) ที่หนักจนเกิด Climax สูงสุด ก่อนจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ดำเนินมาทั้งเรื่อง
และคนดูก็ได้รับสิ่งที่คาดหวังหรือเกินความคาดหวัง

เช่น ผู้ชายได้รู้ว่าผู้หญิงที่เขาตามจีบมาตลอดเคยเป็นผู้ชายมาก่อน
ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเป็น Climax สูงสุดของเรื่องที่ทั้งตัวละครและคนดูต้องเผชิญไปด้วยกัน
และตัดสินใจไปพร้อมๆ กันว่า "ความรัก" ที่ผู้ชายคนนี้มีให้หญิงสาวที่เค้าตามจีบมาตลอด
เป็นเพียงเพราะร่างกายภายนอก หรือที่จิตใจภายใน

หรือชายลึกลับ พบว่าห้องปิดตายที่ออกแบบพิเศษนี้มีทางปลดล็อคได้ด้วยการเทของเหลวเข้าไปดันสลักให้หลุด
โดยใช้ของเหลวประมาณ 3 ลิตร แต่เขาฉี่เข้าไปแล้วได้ประมาณ 1.5 ลิตร แล้วก็ฉี่ไม่ออกอีกเลย เพราะไม่ได้กินอะไรมาเกือบ 3 วันแล้ว
สติก็เลือนลาง ทางออกสุดท้ายคือใช้เลือดตัวเองเติมลงไป (คนมีเลือดประมาณ 5 ลิตร เสียเลือด 20% อาจตายได้)
คือชายลึกลับต้องตัดสินใจว่าจะถูกขังจนตาย หรือลองเสี่ยงดู (ส่วนนี้เป็น Climax สูงสุดของเรื่องนี้)

การคลี่คลาย (Solution) ที่น่าพอใจ เป็นหน้าที่ของผู้เขียนบทที่จะทำให้มีน้ำหนัก น่าเชื่อและคล้อยตาม

ถ้าเขียนออกมาเป็นกราฟจะได้หน้าตาประมาณนี้ (ผมได้มาจากโครงการ "ปั้นน้ำเป็นเงิน 2.1")
โดยทั่วๆ ไปกราฟคล้ายๆ ภูเขา โดยมียอดเขาเป็น Climax

ผมว่าหลักที่ควรรู้สำหรับการเล่าเรื่องก็มีเท่านี้แหละครับ
ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ
เพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น