วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โลกจริง โลกเสมือน


        คุณเคยอยากหนีไปจากโลกใบนี้ไหม




ผมเคยรู้สึกแบบนี้มาตั้งแต่สมัยมัธยม ในช่วงเวลาที่ทุกๆ วันเหมือนเดิม ตื่นเช้าไปโรงเรียน ตกเย็นเลิกเรียน กลับบ้าน แต่ครั้นจะสร้างยานอวกาศเพื่อออกไปเที่ยวนอกโลก ก็ดันหาวัสดุไม่ได้ โชคดีที่ยังมีภาพยนตร์ให้เป็นที่พักใจได้เรื่อยมา
ถ้ามองว่าโลกที่เรากินอยู่หลับนอนใบนี้เป็นโลกจริง จับต้องสัมผัสได้ โลกในภาพยนตร์ก็เปรียบได้กับโลกเสมือนอีกใบให้เราได้เฝ้ามองและรับรู้
นักแสดงคนหนึ่งมีชีวิตในโลกจริงแบบหนึ่ง แต่พอไปแสดงในภาพยนตร์ก็เปลี่ยนบทบาทไปอีกแบบหนึ่ง เรื่องราวหลายอย่างที่เราไม่สามารถพบได้ในโลกจริง กลับสามารถพบได้ในโลกภาพยนตร์
การหนีไปจากโลกใบนี้ของผม จึงหมายถึงการพ้นไปจากเรื่องราวที่เราทำ ที่เราเป็นอยู่ สักชั่วครู่ชั่วยาม ให้ใจได้พัก ให้จินตนาการได้ทำงาน ก่อนจะกลับเข้ามาสู่โลกใบนี้อีกครั้ง



แน่นอนว่าความนึกคิดเหล่านี้ย่อมถูกเล่าขานในโลกภาพยนตร์แล้ว และไปได้ไกลกว่าที่เราทำได้ในโลกจริงมากมายนัก
น่าสังเกตว่าเรื่องราวลักษณะนี้ได้ถูกนำเสนอออกมาในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น Open Your Eyes (1997), Dark City (1998), ExistenZ (1999), The Thirteenth Floor (1999), The Matrix (1999)
แม้จะบอกเล่าต่างรูปแบบกัน แต่ก็มีแก่นร่วมกันคือ “ความจริงที่เหนือขึ้นไปอีกขั้น”
อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีประเภทความจริงเสมือน (Virtual Reality) ถูกพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างที่เราได้สัมผัสใกล้ชิดมานานก็คือ เกมประเภทต่างๆ ที่นับวันจะทำให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนได้อยู่ภายในนั้นจริงๆ จนบางคนถึงกับแยกไม่ออก ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับเกมนี้ ถูกนำมาพัฒนาอย่างยิ่งยวดในภาพยนตร์เรื่อง ExistenZ ส่วนภาพยนตร์เรื่อง The Thirteenth Floor ได้ใช้แนวคิดการจำลองโลกเสมือนขึ้นมาเป็นโครงสร้างหลักให้เรื่องราวได้ดำเนินอยู่ในนั้น


เพราะก่อนหน้านี้ภาพยนตร์มักจะพูดถึงความจริงอีกขั้นด้วยการตื่นจากฝัน แม้ในเรื่อง Open Your Eyes จะยังมีการใช้ประเด็นนี้เป็นฐานของการเล่าเรื่องก่อนจะนำไปสู่จุดหักมุมที่ลืมไม่ลง แต่น้ำหนักในส่วนของเทคโนโลยีก็มีมากจนไม่อาจตัดออกไปได้ ส่วนเรื่อง Dark City ได้พัฒนาเรื่องราวไปอีกลักษณะ และใช้เรื่องความฝันเป็นเพียงองค์ประกอบ
ในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix มีทั้งประเด็นเรื่องความจริงเสมือนที่รวมกับความฝัน การที่ตัวละครอยากหนีไปจากโลกที่เป็นอยู่ ไปจนกระทั่งการตื่นขึ้นเหนือโลก และเปิดพื้นที่อีกมากมายให้ผู้ชมได้วิเคราะห์และตีความ
ภาพยนตร์เหล่านี้นับเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ภาพยนตร์จะถูกมองเป็นเพียงมายา แต่บางครั้งกลับสามารถสื่อสารที่เป็นความจริงอีกขั้น ให้เราผู้อยู่ในโลกแห่งความจริงได้ตื่นขึ้นทางความคิด ได้ค้นพบมุมมองใหม่ๆ นอกจากความสนุกเพลิดเพลิน


แต่ในท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับตัวเราผู้ชม ว่าจะเลือกกระทำอย่างไรจากมุมมองที่ได้รับ จะลองค้นหาความหมายเพิ่มขึ้นเพื่อไปให้ถึงสุดท้ายที่ปลายทาง ไม่ต้องสุขไม่ต้องทุกข์ หรือเลือกจะใช้ชีวิตอยู่กับความจริงตรงหน้า มีความสุขกับสิ่งที่เป็นจับต้องสัมผัสได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับท่านผู้ชมทุกท่านแล้วนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น